ประวัติความเป็นมาของสำนักหอสมุด

วิทยาลัยวิชาการศึกษาพิษณุโลก

ในวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2510 สภาวิทยาลัยวิชาการศึกษาได้มีมติให้เปิด “วิทยาลัยวิชาการศึกษาพิษณุโลก” ตั้งอยู่ที่ถนนสนามบิน ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก เพื่อขยายสาขาสู่ภาคเหนือ เริ่มเปิดการเรียนการสอนอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2510 นิสิตรุ่นแรกในขณะนั้นยังฝากเรียนที่วิทยาลัยวิชาการศึกษาปทุมวัน และวิทยาลัยวิชาการศึกษาบางแสน ต่อมา ในปีการศึกษา 2511 นิสิตรุ่นแรกจึงได้ย้ายมาเรียนที่จังหวัดพิษณุโลก ห้องสมุดซึ่งเป็นสถานที่รวบรวมสรรพวิทยาการต่าง ๆ เพื่อให้บริการทางวิชาการและความบันเทิงแก่นิสิตและอาจารย์ก็เริ่มต้นพร้อมกันไปด้วยการใช้ห้องเรียน (study room) ของหอพักอุมาพรจัดเป็นห้องสมุด แต่เนื่องจากเป็นช่วงเริ่มเปิดดำเนินการ ห้องสมุดยังมีลักษณะที่ไม่เหมาะสมที่จะเรียกว่า ห้องสมุด หรือใช้คำว่า “library” ได้ จึงใช้คำว่า “ห้องอ่านหนังสือ” หรือ “reading room” โดยเปิดบริการตั้งแต่เวลา 7:30 น. – 18:00 น. หนังสือส่วนมากได้รับมาจากการบริจาคของหน่วยราชการ และได้รับความกรุณาจากคณาจารย์หลายคนให้ยืมหนังสือส่วนตัวมาใช้ในการศึกษาค้นคว้า

วันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2511 อาคารคณะมนุษยธรรมศึกษาและสังคมศึกษา (ตึก H) ได้สร้างเสร็จเรียบร้อย ห้องอ่านหนังสือจึงได้ย้ายจากหอพักอุมาพรไปอยู่ที่ตึก H ห้อง H 27 และเปิดบริการเวลา 7:30 น. – 20:00 น. ทุกวันจันทร์ถึงวันศุกร์ วันเสาร์ปิดบริการเวลา 17:00 น. ปิดบริการวันอาทิตย์ ต่อมา เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2512 อาคารหอสมุดสร้างเสร็จ จึงย้ายห้องอ่านหนังสือจากตึก H มายังอาคารหลังใหม่ แต่เนื่องจากยังมีหนังสือน้อยและผู้ใช้บริการไม่มากนัก จึงเปิดใช้บริการเพียงห้องเดียว และในปีการศึกษา 2513 ได้ขยายห้องอ่านหนังสือออกไปโดยแยกสิ่งพิมพ์ประเภทวารสารและหนังสือพิมพ์ไว้ห้องหนึ่ง หนังสืออ่านทั่วไปภาษาอังกฤษและภาษาไทย จัดแยกไว้ต่างหากอย่างละห้อง ในปีการศึกษา 2514 ขยายห้องอ่านหนังสือเพิ่มขึ้นออกไปอีก 1 ห้อง เป็นห้องปฏิบัติการหลักสูตร (Curriculum Laboratory) ซึ่งรวบรวมแบบเรียนชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ตลอดจนคู่มือครูที่เป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับนิสิตที่ต้องออกฝึกสอน ต่อมา ในปีการศึกษา 2515 ได้ขยายบริการการอ่านที่แยกออกจากห้องหนังสือทั่วไป เป็นห้องหนังสืออ้างอิง (Reference Book)

มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พิษณุโลก
มหาวิทยาลัยนเรศวร

จนกระทั่ง ปี พ.ศ. 2517 ได้มีประกาศในราชกิจจานุเบกษา ให้ยกฐานะ “วิทยาลัยวิชาการศึกษาพิษณุโลก” ขึ้นเป็น “มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พิษณุโลก” ตามประกาศราชกิจจานุเบกษา ฉบับพิเศษ เล่มที่ 91 ตอนที่ 112 วันศุกร์ที่ 28 เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2517 “ห้องสมุดวิทยาลัยวิชาการศึกษาพิษณุโลก” จึงได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พิษณุโลก” ภายใต้การดูแลและกำกับของฝ่ายธุรการของมหาวิทยาลัย และในปี พ.ศ. 2523 ได้มีการแบ่งส่วนราชการภายในสำนักหอสมุดกลางใหม่ โดยให้สำนักหอสมุดกลางมีฐานะที่เทียบเท่าคณะ มีหน้าที่ให้การสนับสนุนการเรียนการสอน การค้นคว้าวิจัยของอาจารย์และนิสิต ตลอดจนการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมและให้บริการแก่ชุมชน ในปี พ.ศ. 2526 สำนักหอสมุดกลางได้รับงบประมาณต่อเติมอาคารใหม่ จำนวน 1,840,000 บาท มหาวิทยาลัยอนุมัติเงินสมทบอีก 560,000 บาท รวมเป็นเงินค่าก่อสร้างทั้งหมด 2,400,000 บาท สำนักหอสมุดกลางได้ดำเนินงานมาจนถึงวันที่ 29 เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2533 เป็นวันประกาศพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยนเรศวรในราชกิจจานุเบกษาและถือเป็นวันสถาปนา “มหาวิทยาลัยนเรศวร” ซึ่งได้รับการก่อตั้งสืบต่อจาก “มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พิษณุโลก” สำนักหอสมุดกลาง จึงถูกปรับเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยนเรศวร” นับจากนั้นเป็นต้นมา และมีภารกิจหลัก คือ การเป็นหน่วยงานบริการวิชาการที่สนับสนุนพันธกิจของมหาวิทยาลัยทั้ง 4 ด้าน ได้แก่ ด้านการผลิตบัณฑิต ด้านการวิจัย ด้านการบริการวิชาการ และด้านการทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม

มหาวิทยาลัยนเรศวรเป็นสถาบันอุดมศึกษาของรัฐในส่วนภาคเหนือตอนล่างโดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงลงพระปรมาภิไธยพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยนเรศวร เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2533 และประกาศใช้เป็นกฎหมายในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2533 ซึ่งถือเป็นวันสถาปนามหาวิทยาลัยนเรศวรนับจากนั้น ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยนเรศวรเปิดหลักสูตรการศึกษาในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอก และหลักสูตรนานาชาติ จำแนกเป็น 3 กลุ่มวิชา ได้แก่ กลุ่มมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ กลุ่มวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และกลุ่มวิทยาศาสตร์สุขภาพ รวมทั้งสิ้น 16 คณะ และอีก 6 วิทยาลัย ได้แก่ วิทยาลัยพลังงานทดแทน วิทยาลัยโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน วิทยาลัยเพื่อการค้นคว้าระดับรากฐาน วิทยาลัยนานาชาติ และวิทยาลัยประชาคมอาเซียนศึกษา และวิทยาลัยการจัดการระบบสุขภาพ นอกจากคณะและวิทยาลัยต่าง ๆ ดังกล่าว ยังมีหน่วยงานสนับสนุนระดับกองภายใต้กำกับสำนักงานอธิการบดี รวมทั้งสิ้น 29 หน่วยงาน และหน่วยงานระดับสำนักเทียบเท่าคณะ จำนวน 2 หน่วยงาน คือ บัณฑิตวิทยาลัย และสำนักหอสมุด

ในปี พ.ศ. 2551 สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยนเรศวร ดำเนินการปรับโครงสร้างการบริหารงานเพื่อความเหมาะสม แบ่งโครงสร้างออกเป็น 3 ฝ่าย ได้แก่ สำนักงานเลขานุการ ฝ่ายบริการสารสนเทศ และฝ่ายพัฒนาและวิเคราะห์ทรัพยากรสารสนเทศ ซึ่งมติที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยนเรศวร ครั้งที่ 137 (4/2551) เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2551 เห็นชอบให้มีการปรับโครงสร้างการบริหารงานดังกล่าว โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 127 ตอนพิเศษ 138 ง หน้า 41 เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 สอดคล้องกับเกณฑ์มาตรฐานการประกันคุณภาพ ข่ายงานห้องสมุดมหาวิทยาลัยส่วนภูมิภาค (PULINET) ที่กำหนดองค์ประกอบหลักของการดำเนินงานห้องสมุดจำแนกเป็น 6 ด้าน ได้แก่ ด้านการบริการห้องสมุด ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ด้านเครือข่ายความร่วมมือในการใช้ทรัพยากรร่วมกัน ด้านการบริหารจัดการ ด้านการทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม และด้านการบริการวิชาการแก่สังคม ซึ่งมีหน้าที่ให้บริการแก่ผู้ใช้บริการทุกประเภท ได้แก่ อาจารย์ นิสิต บุคลากรของมหาวิทยาลัย และบุคคลภายนอก

สำนักหอสมุดนำระบบห้องสมุดอัตโนมัติ INNOPAC เข้ามาใช้ในการดำเนินงาน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539 และในปี พ.ศ. 2548 ได้ปรับเปลี่ยนเป็นรุ่น Millennium ต่อมาในปี พ.ศ. 2553 ได้ทำการปรับเปลี่ยนโปรแกรมใหม่อีกครั้งเป็นรุ่น Millennium Version 2007 โดยมีจำนวน License ทั้งหมดรวม 51 Licenses เพื่อรองรับต่อการบริการให้มากขึ้นและครอบคลุมการจัดการทรัพยากรสารสนเทศของห้องอ่านหนังสือคณะ ภายใต้เครือข่าย NULiNet (Naresuan University Library Network)

ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2560 จนถึงปัจจุบัน ทางสำนักหอสมุดได้นำระบบห้องสมุดอัตโนมัติของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (KMUTT-LM) เข้ามาใช้ในการดำเนินงานจัดการทรัพยากรสารสนเทศ และการให้บริการของสำนักหอสมุด และห้องอ่านหนังสือคณะ วิทยาลัย โรงเรียนในเครือข่าย NULiNet (Naresuan University Library Network) มีการเปิดใช้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2560

และจากนโยบายของผู้บริหารสำนักหอสมุดที่มุ่งเน้นให้มีการปรับปรุงและพัฒนากระบวนการปฏิบัติงานอย่างต่อเนื่องมีประสิทธิภาพ สามารถให้บริการได้อย่างถูกต้องและรวดเร็ว ดังนั้น ในทุกภารกิจของฝ่าย/งาน จึงเร่งพัฒนากลายเป็นวัฒนธรรมในการทำงานที่สามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมบริการที่มาจากความร่วมมืออันดีระหว่างคณะผู้บริหาร ผู้ปฏิบัติงาน และผู้ใช้บริการ

Message us