Ep.1 ประเภทของผู้จัดจำหน่าย E-Journal

           จากบทบาทการทำงานด้านการจัดหาวารสารอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้ทราบว่าการจัดหาฯ ไม่ใช่จะเป็นเรื่องของการให้ความสำคัญในแง่เนื้อหาของฐานข้อมูลเป็นหลักอย่างเดียวเท่านั้น ในการจัดหาฯยังคงมีรายละเอียดในเนื้องานหลายๆอย่างที่ต้องคำนึงถึง ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบการบอกรับ ลักษณะของฐานข้อมูล เงื่อนไขราคา และข้อกำหนดต่างๆ รวมถึง ลักษณะของผู้จัดจำหน่ายด้วย เพราะหนึ่งในเหตุผลที่สำคัญต่อการตัดสินใจบอกรับ E-Journal ความน่าเชื่อถือของผู้จัดจำหน่าย การให้บริการอย่างต่อเนื่องและทันท่วงที การดูแลลูกค้า เงื่อนไขและข้อกำหนดที่เป็นธรรม ล้วนมีผลต่อการพิจารณาบอกรับทั้งสิ้น

ดังนั้นใน Blog นี้จึงขอเลือกนำเสนอข้อมูลเบื้องต้นของรูปแบบผู้จัดจำหน่าย E-Journal มาให้อ่านกันก่อนนะคะ

ประเภทของผู้จัดจำหน่าย E-Journal

  1. Publisher คือ สำนักพิมพ์ผู้เป็นเจ้าของ ผู้ผลิตเนื้อหา โดยผลิตวารสารตั้งแต่จำนวนน้อยกว่า 5 ชื่อ ไปจนถึงจำนวนมากกว่า 200 ชื่อ มีเนื้อหาที่หลากหลายสาขา หรือเฉพาะด้านตามแต่ publisher นั้นๆ    Publisher เจ้าใหญ่ๆที่ชาวเราคุ้นเคยกันดี ได้แก่ คือ สำนักพิมพ์ Elsevier, Wiley, Springer และ Taylor & Francis เป็นสำนักพิมพ์ใหญ่ ที่วงการบรรณารักษ์ เรียกว่า “The Big Four” เป็น Publisher ที่มีชื่อเสียง ตีพิมพ์วารสารชั้นนำหลากหลายสาขา เป็นที่รู้จักและต้องการทั่วโลก Publisher ที่เป็นสำนักพิมพ์ขนาดกลางลงมา เช่น Sage มีชื่อเสียงและตีพิมพ์เนื้อหาในสาขาเฉพาะด้านสังคมศาสตร์ เป็นหลัก       Publisher ที่เป็นสถาบันการศึกษา (Academic publishers) จัดพิมพ์วารสารวิชาการที่เผยแพร่ทั้งเชิงพาณิชย์ หรือ เพื่อสังคมไม่แสวงหาผลกำไร หรือทั้งสองอย่าง เช่น Oxford University Press, Cambridge University Press, Harvard University Press เป็นต้น      Publisher ที่เป็นสมาคมหรือ สถาบันวิชาชีพ ตีพิมพ์วารสารที่มีเนื้อหาเฉพาะด้านของสมาคมนั้นๆ เช่น IEEE  (The Institute of Electrical and Electronics Engineers), APS (American Physical Society), ASME (The American Society of Mechanical Engineers) เป็นต้น
  2. Subscription Agents ผู้จัดจำหน่ายที่ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการจัดซื้อ ดำเนินการตามคำสั่งซื้อและบริการระหว่างผู้จัดพิมพ์ (Publisher) และสมาชิกสถาบัน บริษัทที่เป็นตัวแทน เช่น บริษัท Book Promotion, EBSCO, Karger และ Swets เป็นต้น
  3. Aggregators เป็นบริษัทผู้รวบรวมเนื้อหาจากหลากหลายแหล่ง เพื่อสร้างคอลเลกชั่น (Collection) ของวารสารหรือฐานข้อมูล เนื้อหาอาจอยู่ในรูปแบบเดิมหรือสร้าง platform ใหม่ให้เข้าถึงคอลเลกชั่นของทรัพยากรที่ตีพิมพ์ในที่อื่น คือ ทำหน้าที่นำเสนอเนื้อหาผ่าน platform และให้บริการสนับสนุนต่างๆ ผู้จัดจำหน่ายประเภท Aggregators ที่เป็นที่รู้จักในประเทศไทย เช่น EBSCOhost และ ProQuest เป็นต้น

การเลือกผู้จัดจำหน่ายแต่ละประเภท มีทั้งข้อดี และข้อจำกัด แตกต่างกันไป เช่น ข้อดีของการบอกรับโดยตรงกับ Publisher ในเรื่องของราคา เราจะได้ราคาที่เป็นราคาตรงจากบริษัท แต่อาจมีข้อจำกัดในด้านการสื่อสารอย่างละเอียด ลึกซึ้งในการตีความ เนื่องจาก publisher ส่วนใหญ่เป็นบริษัทต่างชาติ ไม่มีบริษัทสาขาในประเทศไทย ดังนั้น สถาบันส่วนใหญ่จึงเลือกใช้บริการจาก subscription agents ในการบอกรับ เพราะการสื่อสารที่สามารถบอกความต้องการได้อย่างสะดวก เข้าใจ และทันท่วงที แต่มีจำกัดในด้านของราคา เนื่องจากต้องมีค่าธรรมเนียม (fee) บวกกับการคิดราคาที่ต้องเพิ่มกับการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินสกุลต่างๆ เช่นนี้เป็นต้น

ในการจัดหาวารสารฯ ยังมีเกร็ดเล่าอีกเล็กน้อย จะพยายามเขียนมาเล่าสู่กันอ่านอีกนะคะ ติดตาม Serial Series กันต่อใน ep.2 นะคะ ขอไปคิดก่อนว่าจะมาเล่าอะไรดี สวัสดีค่ะ