Zero Waste แนวคิดลดขยะให้เป็นศูนย์

สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยนเรศวร นำแนวคิดเกี่ยวกับ 7R มาผนวกกับการปฏิบัติงานต่าง ๆ เพื่อช่วยโลกและสังคมให้น่าอยู่ การรณรงค์ การจัดกิจกรรม ต่าง ๆ ต้องเป็นไปตามมาตรฐานห้องสมุดสีเขียว ในที่นี้ บางคนอาจไม่ทราบถึง 7R สำคัญอย่างไร สื่อนี้แสดงถึงแนวคิดลดขยะ เพื่อโลกเพื่อชีวิตแบบ Zero Waste

Zero Waste คือ แนวทางการลดขยะให้เป็นศูนย์ หรือลดจำนวนขยะต่อคนให้เหลือน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อเป็นการหยุดปัญหาตั้งแต่ต้นทาง แทนที่จะกำจัดปัญหาขยะที่ปลายทาง ซึ่งเป็นอีกหนึ่งทางเลือกดี ๆ ของการเริ่มต้นใช้ชีวิตแบบรักษ์สิ่งแวดล้อมและพร้อมช่วยโลกอย่างเต็มที่

ทำไมเราถึงต้อง Zero Waste เมื่อขยะเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ปริมาณขยะที่กำจัดได้กลับสวนทางกัน เพราะไม่ว่าจะเป็นถุงพลาสติก หลอด หรือโฟม ล้วนแต่เป็นขยะที่ต้องใช้ในชีวิตประจำวันทั้งสิ้น คงจะดีไม่น้อยถ้าเราหันมาเปลี่ยนพฤติกรรมทีละนิด โดยการเลือกไม่รับถุงพลาสติก หันมาใช้ถุงผ้าแทน เปลี่ยนจากหลอดพลาสติกมาเป็นหลอดกระดาษหรือหลอดสแตนเลส เท่านี้ปัญหาขยะล้นเมืองคงไม่ใช่ปัญหาใหม่แต่อาจจะเป็นปัญหาใหญ่ที่ทุกคนต้องร่วมมือกัน

วัตถุประสงค์สำคัญของแนวคิด Zero Waste

แนวคิดเรื่อง Zero Waste จัดการขยะให้เป็นศูนย์นั้นมีวัตถุประสงค์ที่ไม่อาจมองข้ามไปได้ ดังนี้

  1. เป็นการลดการเกิดมลภาวะรอบด้าน เมื่อปริมาณขยะที่มีหลายล้านตันได้ถูกลดจำนวนลง แน่นอนว่าการเกิดมลภาวะทางอากาศและสิ่งแวดล้อมก็จะลดลงตามไปด้วย ไม่ว่าจะปัญหากลิ่นเหม็นเน่า การปล่อยก๊าซต่าง ๆ หรือปัญหาสุขอนามัยที่น่าเป็นกังวล ฯลฯ
  1. เป็นการลดปริมาณขยะทุกประเภท อีกข้อที่สังเกตได้อย่างชัดเจนสุดเมื่อเลือกใช้แนวคิดนี้ คือ การลดปริมาณขยะทุกประเภท หากทุกคนตระหนักถึงถึงความสำคัญและใส่ใจปฏิบัติตามหลักการ ลดการสร้างขยะมากขึ้นคนละเล็กคนละน้อย ปริมาณขยะที่มีก็จะลดน้อยลง ทั้งนี้ ยังเป็นการลดทุกประเภท ไม่ใช่แค่แค่อย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น จากเดิมที่มีขยะหลายตัน ก็จะเหลือขยะน้อยลงเรื่อยๆ ซึ่งจะช่วยฟื้นฟูโลกและสิ่งแวดล้อมให้ดีมากกว่าเดิม และส่งผลต่อการใช้ชีวิตให้ดำเนินต่อไปอย่างมีคุณภาพและสุขภาพดี
  1. เป็นสังคมที่ปลอดขยะ เพราะแนวคิด Zero Waste คือการกำจัดขยะที่มีมากให้ลดน้อยลงจนกลายเป็นศูนย์ จะเป็นการสร้างสังคมที่มีคุณภาพได้อย่างดี เมื่อทำได้ก็ช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิต และสร้างความสุข ทำให้บ้านเมืองสะอาดน่าไปไหนมาไหนก็งามตามากขึ้น ช่วยให้คนในสังคมใส่ใจเกี่ยวกับเรื่องขยะมากขึ้น ช่วยกันคัดแยกขยะและนำไปใช้ประโยชน์ได้ง่ายขึ้น
  2. ได้วิถีชีวิตใหม่ พฤติกรรมการทิ้งขยะดีขึ้น จากเดิมที่ในชีวิตประจำวันของเราจะมีการใช้ถุงพลาสติกมากขึ้น หรือสร้างขยะจนกลายเป็นความเคยชิน เมื่อใช้แนวคิดนี้จะช่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของแต่ละคน กลายเป็นวิถีชีวิตใหม่ ทำให้เกิดเป็นนิสัยที่ดีมากขึ้น พอได้ทำเป็นประจำก็จะไม่รู้สึกว่าสิ่งนี้แปลกประหลาด

ทั้งนี้ ในด้านธุรกิจเองก็มีส่วนช่วยในการดำเนินตามแนวคิด Zero Waste ได้เช่นกัน อย่างการประกอบธุรกิจร้านอาหาร เครื่องดื่ม มีการหันมาใช้งานหลอดกระดาษที่ใช้แล้วย่อยสลายได้ง่าย การให้ลูกค้านำถ้วยกาแฟส่วนตัวมาบรรจุเครื่องดื่มที่ซื้อได้ หรือบรรจุในถ้วยกระดาษที่ย่อยสลายง่ายแทนพลาสติก ซึ่งมีหลายธุรกิจที่ได้ปรับตัวและทำให้ผู้บริโภคปรับตัวตามไปด้วย ทำให้ช่วยลดขยะลงได้อย่างมาก

Zero Waste เป็นแนวคิดที่ควรต้องให้ความสำคัญอย่างที่สุด เพราะถือเป็นเรื่องใกล้ตัวซึ่งทุกคนสามารถช่วยกันทำได้สม่ำเสมอ ทุก ๆ วัน เป็นการลดปริมาณขยะ เมื่อทำจนกลายเป็นนิสัย เป็นความเคยชินก็จะส่งผลดีต่อตัวเราและทุก ๆ คน เพราะส่วนหนึ่งก็ช่วยให้โลกกลับมาสดใสได้อีกครั้งไปสู่รุ่นลูกรุ่นหลาน ที่มา : https://www.arda.or.th/knowledge_detail.php?id=78

หลักการ Zero Waste มีอะไรบ้าง?

1. Refuse คือ การปฎิเสธการใช้พลาสติกหรือโฟมแบบที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง แล้วหันมาเลือกใช้พลาสติกหรือวัสดุที่ย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ เช่น การห่อด้วยใบตอง ภาชนะใส่อาหารจากชานอ้อย หลอดดูดน้ำจากกระดาษ  เป็นต้น

2. Recycle  แยกขยะก่อนทิ้ง  หลายคนอาจะคิดว่าเป็นสิ่งที่ยุ่งยากต้องแยกขยะเป็นหลายประเภท  แต่ทราบหรือไม่ว่าการแยกขยะรีไซเคิลออกมา ก็เป็นการลดขยะสามารถนำไปสร้างประโยชน์ได้อีกมากมาย อาทิเช่น

  • การคัดแยกปฏิทิน เพื่อส่งต่อให้ มูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ นำไปผลิตเป็นสื่ออักษรเบรลล์ ให้ผู้พิการทางสายตาได้เรียนรู้    สถานที่ติดต่อ  420 ถนนราชวิถี แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400 โทรศัพท์ : 0-2354-8365-68, 0-2354-8370-71 โทรสาร : 0-2354-8369 อีเมล : service@blind.or.th.
  • คัดแยกพลาสติก เพื่อ ส่งโครงการ “วน” รับถุงและฟิล์มพลาสติกสะอาดกลับมารีไซเคิล เพื่อให้พลาสติกหมุนเวียนอยู่ในระบบ ช่วยลดปริมาณขยะพลาสติกที่จะออกสู่สิ่งแวดล้อม  ซึ่งวิธีส่งถุงและฟิล์มพลาสติกให้โครงการ “วน” จะต้อง เก็บรวบรวมถุงหรือฟิล์มพลาสติก(สะอาดและแห้ง)ให้ได้จำนวนนึง (บีบอัดให้แน่นเพื่อประหยัดพื้นที่)  นำไปส่งตามจุดรับของโครงการ หรือส่งทางไปรษณีย์ได้ที่  โครงการ วน” บริษัท ทีพีบีไอ จำกัด(มหาชน)  42/174 ม.5 ต.ไร่ขิง อ.สามพราน จ.นครปฐม 73210

              นอกจากบริจาคขยะประเภทพลาสติก กระดาษ แก้ว โลหะ ฯลฯ สามารถเก็บรวบรวมไว้ให้มีปริมาณมากแล้วนำไปขายต่อให้ลุงซาเล้งเพื่อต่อส่งเข้าสู่กระบวนรีไซเคิลอย่างถูกต้องต่อไปและเป็นการช่วยลดปริมาณขยะที่จะนำไปสู่หลุมฝังกลบน้อยลง

3. Reuse ใช้ซ้ำ ใช้แล้วใช้อีก ใช้วนวนไป จนกว่าจะหมดอายุการใช้งาน

  • ใช้ของทุกอย่างให้คุ้มค่า ก่อนจะทิ้งสิ่งของหรือวัสดุอะไรตามความคุ้มชินของตัวเอง ลองมาทบทวนสักนิดก่อนทิ้ง ลองดูว่าขยะอะไรบ้างที่สามารถนำมาใช้ซ้ำได้ หรือนำมา ดีไอวาย แปลงร่างเป็นของใช้ใหม่สุดแนวได้บ้าง อาทิเช่น  ขวดน้ำ  แก้วน้ำ กะละมัง ชาม ไห  เราสามารถนำมาปลูกต้นไม้ ดอกไม้ ผักสวนครัวได้ จะปลูกไว้เชยชมเอง หรือ นำแป็นของขวัญของฝากก็ได้ ประหยัด รักษ์โลก และมีคุณค่าทางใจอีกด้วย
  • ฟื้นคืนชีพผักที่เราซื้อมาปรุงอาหาร สามารถนำมาปลูกใหม่ได้เช่นกัน  ไม่ว่าจะเป็นผักชี  ผักบุ้ง  ผักกาด ล้วนแล้วนำมาปลูกเป็นต้นใหม่ให้เจริญงอกงาม เป็นผักปลอดสารพิษ  สามารถนำมาปรุงอาหารได้อีก และประหยัดค่าใช้จ่ายแถมรักษ์โลกอีกต่างหาก
  • เสื้อผ้าเก่าจากรุ่นสู่รุ่น  ที่เห็นบ่อย ใน มวลสมาชิก Fourgreen อีกอย่างหนึ่งคือ  การนำเสื้อผ้าเก่ามาแปลงร่างเป็นเสือผ้าตัวใหม่ให้ลูก ๆ
  • กระดาษเหลือใช้  นำมาทำถุงกระดาษไว้ห่อหุ้มพืชผักสวนครัวกันแมลง หรือจะนำมาประดิดประดอยเป็นกระดาษห่อของขวัญ  ห่อปกหนังสือ  ในวัยเด็ก ขอย้อนวัยกันนิดหนึ่ง หลาย ๆ คนอาจจะมีประสบการณ์แบบนี้เหมือนกัน คือ นำมาห่อปกหนังสือเรียน เพื่ออนุกรักษ์หนังสือ ตำราเรียนของไว้ส่งต่อรุ่นต่อรุ่น ซึ่งวิธีเหล่านี้นอกจากช่วยให้เราใช้วัสดุอย่างคุ้มค่าแล้วยังเป็นการสานความสัมพันธ์ในครอบครัวด้วยการใช้เวลาว่างสร้างสรรค์ไอเดียต่าง ๆ ร่วมกัน
4. Refill คือ  การเลือกใช้สินค้าแบบเติม   คือนำภาชนะไปเติม ทดแทนการซื้อใหม่ แค่นำภาชนะประเภทขวดไปเติมก็จะช่วยลดขยะภายในครัวเรือน อาทิ การเติมน้ำยาล้างจาน ยาสระผม สบู่เหลว  เป็นต้น
5. Repair คือ ซ่อมได้ อะไร เราก็ซ่อมได้  คิดก่อนทิ้ง ก่อนซื้อใหม่ ลองมาเปลี่ยนพฤติกรรมที่เราคุ้นชินชอบทิ้ง  ชอบซื้อใหม่  หันมาซ่อมแซมเครื่องใช้ อุปกรณ์ต่าง  ๆ   ก่อนทิ้งเป็นขยะ  เช่น การปะ ชุน เสื้อผ้าที่ขาด  การซ่อมโต๊ะ เก้าอี้ที่ชำรุด  หรือทาสีใหม่ให้ดูน่าใช้มา   การซ่อมแซมเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านที่ชำรุด เป็นต้น

6. Return คือ การเลือกอุดหนุนสินค้าที่ใช้บรรจุภัณฑ์หมุนเวียน เช่น การใช้ขวดแก้วแทนขวดพลาสติกสามารถคืนขวดได้ หรือการการเลือกสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น ฉลากเขียว ฉลากลดโลกร้อน ฉลากลดคาร์บอน ฉลากคาร์บอนฟุตปริ้นต์ เป็นต้น

7. Reduce   ลดการใช้ เป็นการลดขยะตั้งแต่ต้นทาง สิ่งพวกเราทุกคนสามารถทำได้  และในปัจจุบันแทบทุกคนจะพกพา ถุงผ้า ในการจับจ่ายใช้สอย ซื้อสินค้าต่าง  ๆ หรือใส่อุปกรณ์ต่าง นอกจากนั้น สิ่งที่เราทำได้อีก เช่น พกแก้วน้ำ  กล่องข้าว  ปิ่นโต ตระกร้า และ สิ่งอื่น ๆ ทีเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม  ง่าย ๆ คือปฏิเสธถุงพลาสติก กล่องโฟม  แล้วหันมา “ยืดอก พกถุงผ้า แก้วน้ำ ตะกร้า ปิ่นโต กล่องข้าว”

            ลองหันมาเปลี่ยนแปลงตัวเองตามหลัก 7R  ช่วยกัน ลดการใช้  ใช้ซ้ำ แยกขยะนำกลับมา ใช้ใหม่ ปฏิเสธวัสดุที่ไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม  เลือกใช้สินค้าแบบเติม ซ่อมได้ คิดก่อนทิ้ง  ก่อนซื้อใหม่  และ เลือกอุดหนุนสินค้าที่ใช้บรรจุภัณฑ์หมุนเวียน

            มาสร้างโลกของเราให้น่าอยู่ น่าอาศัย  ช่วยกันลดขยะให้เป็นศูนย์ หรือ สร้างขยะให้น้อยที่สุดเท่าที่จำเป็นด้วยหลัก 7R Reduce  Reuse  Recycle  Refuse Refill Repair และ Return  เมื่อเราเข้าใจอย่างถ่องแท้และยึดหลักการจัดการขยะแบบ 7R  ได้แล้วอย่าลืม    ส่งต่อความรู้และหลักปฏิบัติให้กับสมาชิกในครอบครัว เพื่อนร่วมงาน และ เพื่อนร่วมโลก เพื่อสร้างสังคมที่ปลอดขยะและสร้างโลกที่น่าอยู่ น่าอาศัย  ช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อมในโลกของเราให้คงอยู่แบบยั่งยืนตลอดไป